หลังกดชัยชนะที่ออสติน ด้วยฝีมือของ อเล็กซ์ รินส์ ดาวบิดสเปนของฮอนด้า แอลซีอาร์ ที่พึ่งจับ Honda RC213v ได้ไม่กี่สนาม (ขับด้วยแชสซีที่มาร์ค มาเกซ แดรกเม้าส์ไปลงไซเคิลบิน) ฮอนด้ามีการขยับหลังบ้านที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยนะครับและเรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่สำ มะ คัญ เลยทีเดียว
นั่นคือการติดตั้ง “โคจิ วาตานาเบะ” มานั่งแท่นใน HRC และดูแลโปรเจ็คโมโตจีพี
หมอนี่ไม่ได้มีเชื้อสายมาจากโดเรม่อนที่จะเสกของวิเศษออกมาให้ฮอนด้าคว้าแชมป์ได้อีกครั้ง แต่ดีกรีต้องเรียกว่าไม่ธรรมดา ในเชิงวิศวกรแล้วนี่คือแม่ทัพใหญ่ระดับกัปตันของทีมเลยทีเดียว วาตานาเบะย้ายมาจากรายการ 4 ล้ออย่างรถสูตร 1 นะครับ และเป็นผู้รับผิดชอบโปรเจ็คเครื่องยนต์ Formula 1 ของฮอนด้า
ในรายการ 4 ล้อ ฮอนด้าง่อยเปลี้ยเสียขาอย่างมากยุคของแมคลาเรนและเฟอร์นานโด อลอนโซ่ แต่จุดเปลี่ยนคือ โคจิ วาตานาเบะ ที่เข้ามาพลิกสถานการณ์ด้วยการดูแลด้านวิศวกรรมและเครื่องยนต์ให้กับฮอนด้า เป็นจุดเริ่มต้นและดูแลมาจนปัจจุบันที่เป็นยุคทองของเรดบูลและแม็กซ์ เวอร์สแตพเพน กับศักยภาพในการแข่งขันที่เรียกว่า ..... ใครก็ได้ หยุดกรูที
การโยกย้ายครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเครื่องยนต์ในรายการนี้(F1)ของฮอนด้า จะถูกดองพัฒนาไปจนถึงปี 2026 และเพื่อปลุกฮอนด้าในโมโตจีพีให้กลับมาอีกครั้ง การติดตั้งวาตานาเบะเข้ามาสวมเสื้อ HRC จึงเกิดขึ้น และเวลาเดียวกัน ชินย่า วาคาบายาชิ หัวหน้าของเรปโซลทีม ถูกส่งกลับไปที่โรงงานที่ญี่ปุ่นเพื่อรับหน้าที่ด้านการผลิตเปิดป้อนในโปรเจ็ค โมโตจีพี เรียกว่าเซ็ทกันใหม่เลยทีเดียว
สื่อต่างประเทศแซวว่า นี่เป็นกระสุนนัดสำคัญที่ฮอนด้ายิงออกไปเพื่อเทียบเข้าหาฝั่งและอีกนัยสำคัญก็คือ แสดงความมุ่งมั่นให้เห็นชัดเจนให้นักขับที่ดีที่สุดของพวกเค้าเชื่อว่า การสู้ต่อด้วยกัน ปลุกรถที่หลับไปแล้วให้ตื่นอีกครั้งเป็นอะไรที่ท้าทายมิใช่น้อย
กระซิบกันแบบอ่านแล้วอย่าบอกใครนะครับว่า มันเหมือนการต่อสู้กันเองของสเปนและญี่ปุ่นด้วย
2 – 3 ปีที่ผ่านมาที่เจ้าโควิดถล่มเมืองมนุษย์ ช่วงนั้นการแข่งขันดำเนินไปแบบปิด การเดินทางระหว่างประเทศยากลำบากมาก กับรถที่มีฐานทัพอยู่ที่เอเชียอย่างฮอนด้า(รวมถึงยามาฮ่าและซูซูกิ) พวกเค้าเสียเปรียบรถยุโรปที่เหมือนแข่งอยู่ในบ้านตัวเอง ข้อมูล การอัพเกรดต่าง ๆ มันทำได้ตลอดเวลา
นั่นเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้รถยุโรปยกระดับขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด รถญี่ปุ่นเหมือนกับว่าตามหลังไปสองปี หรือรถญี่ปุ่นบางค่ายมองเกมส์ออกว่าการเสียเปรียบดังกล่าวสู้ล้างมือในอ่างทองคำขณะไม่โดนฉีกหนีให้เสียเหลี่ยม ถอยออกให้แฟนคลับได้เสียดายและพูดถึงทุกวันดีกว่า ... หลับสงบศพชมพู (ว่าไปนั่น)
เจาะมาที่ฮอนด้า ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเหมือนกับว่าทางฝั่งผู้ดูแล บริหาร หรือการตัดสินใจ บุคลากรทางยุโรปจะมีผลมากกว่า(ช่วงโควิด / ไม่ได้หมายถึงคนยุโรปอย่างเดียว แต่หมายถึงคนญี่ปุ่นด้วยที่อยู่ยุโรปแต่ไม่สามารถกลับมาญี่ปุ่นได้ระหว่างฤดูกาล) แต่กลายเป็นว่าหลาย ๆ อย่างเป็นการก้าวที่ผิด ณ บัดเดี๋ยวนี้เหมือนกับว่าโครงสร้างต่าง ๆ เป็นการปรับเพื่อให้ญี่ปุ่นนั้นกลับมามีบทบาทเช่นเดิม
แน่นอนครับ ทุกอย่างต้องการเวลาและฮอนด้าเองก็ต้องการสิ่งนั้น !
ตอนนี้ทีมยุโรปต่างมี MOU หรือคอนเน็คชั่นกับทางฝั่ง F1 นะครับ ล่าสุดก็เป็นเคทีเอ็มที่ดิวกับเรดบูล (คนละส่วนกันกับคนที่ฮอนด้าดิว อันนี้เจาะที่เชิงเครื่องยนต์เลย) ถามว่าได้อะไรบ้าง ตอบตรงนี้เลยว่า ... เยอะโคตร
ตัวอย่างเรื่องอากาศพลศาสตร์ สมัยก่อนการเพิ่มปีกเข้ามา ปัจจัยสำคัญครับคือเรื่องของแรงกด ช่วยให้รถเกาะสนามอะไรแบบนั้น แต่เมื่อคุณมีเทคโนโลยี ห้องทดลอง อุโมงค์ลม ที่ทีมรถสูตรใช้ค้นคว้าและพัฒนา มันสามารถพัฒนาแพ็คเกจทั้งคันให้ไปด้วยกันได้ ที่ไม่ได้พูดแค่แรงกด แต่พูดถึงแอร์โร่โดยรวมที่ไม่กดมากหรือน้อยไปพอดีกับเครื่องยนย์ คอนโทรลได้พอดีกับแชสซี มีศัยภาพที่ไม่ส่องผลต่อรถ ยาง หรือคนขับ ในการขับต้านลมตรง ๆ หรือมวลลมที่ปั่นป่วนตอนที่วิ่งตามคู่แข่ง เพราะปีกแบบใดแบบหนึ่งมันดี ณ สถานการณ์หนึ่ง การหาจุดที่ลงตัวกับรถคันนั้น การมีห้องทดลองเพิ่มมันดีกว่าเป็นไหน ๆ
ยามาฮ่า(ขอข้ามฝั่งหน่อย) ชัดเจนในเรื่องนี้ เมื่อเพิ่มพลังของเครื่องยนต์เข้ามา มีปัญหาเรื่องการนำมาใช้ ปีกที่สามารถควบคุมรถได้กลายเป็นใหญ่ กดเกินไปสำหรับเครื่องยนต์ที่พอดี เมื่อขับคนเดียวทำเวลาได้ เมื่อขับร่วมกับคนอื่นกลายเป็นมวลลมก่อกวน ส่งผลต่อการเร่งความเร็ว แรงกดต่อยาง แรงดันที่เหนือการคาดหมาย เกมส์จริงกับการซ้อมต่างกันสิ้นเชิง
หรือแม้นแต่ฮอนด้าเอง การเบรกขณะตามคนอื่น การถูกลมดูด เกิดความยากต่อการควบคุม หลายครั้งไปจบที่ท้ายรถคนอื่น ไม่เชื่อถามมาร์ค มาเกซหรือทาคาอะกิ นาคากามิดูก็ได้
อันนี้พูดถึงแค่ปีกนะครับ ยังไม่ได้เกี่ยวไปถึงอิเล็กทรอนิกซ์ การทำงานกับยาง รายละเอียดเครื่องยนต์ที่ประสบการณ์การแชร์ข้อมูลร่วมกันพัฒนาจะมีบทบาทสมทบเข้ามาอีกเยอะมาก
ร่ายมาทั้งมวล จุดเรื่องต้นคือศักยภาพของเครื่องยนต์ที่พวกเค้าจะพัฒนาให้ฝีเท้าจัดจ้านขึ้น รวมถึงไอเดียและประสบการณ์จากการแข่งขัน F1 ที่พวกเค้าจะดูแลเองว่าอันไหนจำเป็น อันไหนต้องดัน อันไหนไปด้วยกันได้หรือไม่อย่างไร ด้วยองค์ความรู้ งบ และห้องปฏิบัติของพวกเค้าเอง ด้วยผู้นำทางที่ผ่านศึกใหญ่และคว้าชัยมาแล้ว
วันนี้ไม่รู้ว่าเริ่มเห็นความแตกต่างหรือยังเพราะเวลาในการทำงานพึ่งเริ่มต้น แต่จากนี้นับได้ว่าน่าสนใจยิ่งนักสำหรับสาวก HRC และแฟนคลับเจ้ามดแดง
อย่าเชื่อผม ผมเดาเอา
#WhatStopsYou #มุ่งไปอย่าให้อะไรมาหยุด #MotoGP #SC35 #Moto2 #RaceToTheDream #HondaRacingThailand #HondaTeamAsia